Category:

การเดินทาง ไม่สิ้นสุด

January 12th, 2017 by

มันชอบกลับมานั่งอ่านเรื่องราวที่ตัวเองเคยเขียนบันทึกเอาไว้ใน Blog เสมอ เหมือนเป็นเครื่องเตือนใจว่าเคยผ่านอะไรมาบ้าง บางช่วงเสี้ยววินาทีอาจจะมีคำถามกับตัวเองว่ามันเป็นคนที่ยึดติดกับอดีตอะไรมากมายที่ต้องมานั่งอ่านทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาบ่อยๆ แต่สิ่งที่เห็นก็พอทำให้ใจชื้นอยู่บ้างว่าทุกวันนี้ที่เป็นอยู่นั้นต่างกับวันเก่ามากโข ต้นทางที่จากมานั้นไกลกว่าจะกลับไปในแบบเดิม แต่อย่างหนึ่งที่ไม่เคยหนีไปไหนจากมันไกลคือขวดเบียร์ซึ่งก็ลดลาวาศอกกันไปตามอายุที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น อีพะยอมผมหยิกจุดตะเกียงน้ำมันเตาเรียกมันอยู่จากฟากปลายนาฝั่งกระโน้นไหวๆ สะดุ้งตื่นสะกิดถ้วยกาแฟขี้ชะมดจากเกาะสุมาตราที่เพื่อนแอร์โฮสเตรสสาวสวยหิ้วมาฝากเมื่อครั้งมีเที่ยวบินไปทางเกาะใหญ่

อะไรกันหละที่ทำให้เราเปลี่ยนจากคนที่เคย ไปเป็นอื่น ไม่ว่าจะเป็นการงาน ความคิด รวมไปถึงมุมมองในการใช้ชีวิต มันก็ตลกดีที่ได้ย้อนกลับไปมองดูว่าได้ทำอะไรลงไปบ้าง ที่สำคัญคือตอนนี้นอกจากคำถามแรกนั้นแล้วก็มีคำถามพ่วงมาว่า “กูทำลงไปได้ยังไง” บางเรื่องบ้าบิ่น บางเรื่องก็ยังไม่รู้ว่าปลายทางที่สุดแล้วผลลัพธ์จะสรุปลงที่ตรงไหน แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีคำตอบเพราะมันเองเชื่อว่าชีวิตที่ดำเนินคือการใช้ระหว่างทาง

ไม่ว่าวันเก่าเดินจากมาอย่างไรทางเส้นใหม่ข้างหน้าจะถูกวาดขึ้นเสมอ ไม่มีใครมาขีดเส้นลากล็อคไว้ นอกจากต้นแบบที่แตกต่างในอดีตของเพื่อนมนุษย์เหล่านั้นได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ได้เลือกเรียนรู้บนหนทางที่ต้องเดินไปสู่จุดหมายเดียวกันคือความตาย ในระหว่างนั้นหากรู้สึกเหมือนมืดมนหาทางออกไม่เจอ ก็คงเป็นตัวมันเองที่เลือกขังลมหายใจเอาไว้ในกรอบความคิดที่คับแคบแสนทรมานในเกาะเล็กๆ อันแห้งแล้งที่คอยกัดกร่อนวิญญาณให้ตายลงไปอย่างช้าๆ สุดท้ายก็กลายเป็นซากศพเน่าผุแม้แต่วัชพืชก็ไม่อยากจะดูดซึมไปเป็นอาหาร

ในยุคสมัยที่การมองอนาคตในระยะยี่สิบสามเมตรไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของหัวใจ ควรเปลี่ยนหน่วยวัดมาเป็นอย่างอื่นเพื่อที่จะทำให้ได้เห็นอะไรยาวไกลมากยิ่งขึ้น จากมองเห็นแค่ตัวเองก็เริ่มมองคนอื่นรอบข้าง สังคม เพื่อนมนุษย์ สิ่งมีชีวิต อนุภาค สะสาร ไกลออกไป ไกลออกไป ถ้าหากได้มีโอกาสปูเสื่อล้อมวงก๊งบียร์กับผองเพื่อนที่ดวงจันทร์ของดาวเสาร์สักครั้งก่อนตายก็คงดีไม่น้อย

ไม่มีใครบอกว่าการใช้ชีวิตนั้นมันง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหมู่คนที่ต่อสู้ดิ้นรนในสังคมที่ไม่มีความทัดเทียมเท่ากันในการที่จะเลือกแสดงออกทางความคิด สิ่งสวยงามที่วางเอาไว้คงเป็นได้แค่เรื่องวาดฝัน แต่ก็ไม่มีใครบอกว่าเป็นไปไม่ได้ หากไม่สำเร็จในช่วงชีวิตนี้ก็คงมีคนมาสานต่อไปในภายหน้า ผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไรคงยังไม่รู้ มีแต่เพียงเป้าหมายอยู่แสนไกลที่เด่นชัดบนหาดทราย เพียงห้วงยามคลื่นซัดสาดก็อาจพรากความฝันนั้นให้หายไป

เราไม่สามารถแบกทุกอย่างเอาไว้ได้ จริงๆ แล้วเขาก็มีคำกล่าวกันว่าสิ่งที่ยากกว่าการทำหลายๆ อย่างคือการเลือกที่จะไม่ทำอะไรเหล่านั้น เพราะตามสัญชาตญาณความอยากของคนเราแล้วมันเลือกที่จะทำทุกอย่างให้ได้ เมื่อทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันจึงไม่สามารถทำอะไรได้ดีสักที เพราะมันไม่ได้เลือกจดจ่อว่าเราต้องทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันในและสำเร็จช่วงเวลานั้นๆ

ความอยาก ความกระหาย ความท้าทาย มันก็ดี มันทำให้เราเป็นคนไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ยิ่งโดยเฉพาะในยุคปัจจุบันด้วยแล้ว ไม่ได้มองว่าเราไม่สามารถที่จะหลบลี้หลีกหนีวัฏจักรวงจรยุงลายแห่งความกระหายเลือดนี้ได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเลือกที่จะเล่นกับมันก็คงต้องรู้จักวิธีการเล่น เล่นผิดท่าอาจจะเอวเคล็ด ปวดตามเนื้อตัวไปอีกนาน เล่นทีละท่าเอาเน้นๆ ดีกว่าเห็นผลลัพธ์แล้วค่อยเปลี่ยนรูปแบบใหม่จะดีกว่าไหม

ไม่ใช่ว่าจะยอมแพ้ต่อความหลากหลายที่ถาโถม ไม่ใช่ว่าใจไม่สู้ ไม่ใช่ไม่อยากท้าทายกับสิ่งใหม่ เพียงแต่คิดว่ามันควรที่จะเลือกเรื่องที่ต้องท้าทายกันบ้าง เพราะว่าเวลาชีวิตมันมีจำกัด พลังชีวิตมันมีจำเขี่ย รายทางที่ผ่านมามันอาจจะมีรายละเอียดหลุดหล่นหายบ้างก็อยากจะกลับไปเก็บเกี่ยวเหลียวมอง เป้าหมายใหญ่ในชีวิตที่ยังไม่ชัดเจนก็อยากจะขอเวลาพักวาดมันขึ้นมาให้เด้งเด่นเพื่อที่จะได้เล็งเป้าใด้เน้นๆ ในระยะไกลกว่าเดิม ยิ่งชัดเท่าไหร่มันก็สามารถยิงเข้าจุดได้แม่นยำเท่านั้น

สิ่งที่ได้ทำไปแล้วหลายอย่างล้วนแล้วแต่เป็นแค่หมัดแย็บ มันคงถึงเวลาที่ต้องถามหาหมัดฮุค เอาจะๆ ทีเดียวจอดแล้วจากลาวงการแบบสะท้านสะเทือนเหมือนเขาทราย แกแล็คซี่ คงจะดีมิใช่น้อยถ้าทำได้อย่างนั้น

ขอให้มันมีความสุขกับการใช้ชีวิต

ก้าวต่อไป ไอ้กระจอกส์

August 31st, 2016 by

มันจะหงุดหงิดเสมอ เมื่อใช้ชีวิตไปสักพักความคิดเดินมาถึงทางตัน อย่างน้อยที่สุดในชีวิตมันก็เกิดขึ้นประมาณปีละหน มันรู้สึกหงุดหงิด ติดขัด หาทางออกไม่ค่อยเจอแล้วก็รู้สึกว่าตัวเองล้มเหลาวในการใช้ชีวิตไปเสียดื้อๆ

ทำไมอาการแบบนี้ถึงเกิดขึ้นกับมัน ไม่ใช่แค่ครั้งแรกที่เป็น ตลอดระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมาเรื่องราวแบบนี้มักเกิดขึ้นเสมอ

แต่ทุกครั้งที่เหตุการณ์ผ่านพ้นไป ชีวิตมันมักจะเปลี่ยนแปลง แต่มันก็ไม่เคยเลย ไม่เคยหาสาเหตุว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับชีวิตมันได้อย่างไร จนกระทั่งอยู่ดีๆ คำถามนี้ก็เกิดขึ้นในหัว “ไอ้ห่าเอ้ย เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยขนาดนี้ ทำไมไม่หาสาเหตุแล้วทำความเข้าใจวะ”

ไม่ใช่ว่าเรื่องแบบนี้ไม่มีเหตุมีผล อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้น แต่ความเป็นจริงแล้ว มันไม่เคยคิดออกว่ามันควรจะตั้งคำถามต่างหาก หรือเกิดอาการ “คิดไม่พบ“นั่นเอง

มันจึงตั้งชื่อโรคประจำตัวตัวเองว่า “โรคสมองตัน” โรคนี้สังเกตได้ไม่ยาก แค่ถ้าวันหนึ่งตื่นขึ้นมาพร้อมกับคำถามที่ว่า “กูมาทำอะไรที่นี่” เมื่อไหร่ นั่นแสดงว่าโรคนี้ถามหาแล้ว คนเราเมื่อถึงจังหวะที่ต้องเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ไม่สามารถหลีกหนีโลกแห่งทุนนิยมสามานย์นี้ออกไปได้ เราจะปรับตัวยังไงให้พร้อมสู้กับวันใหม่อยู่เสมอ ความเปลี่ยนแปลงมันยืนยิ้มร่ารอเราอยู่ตลอดเวลา ให้ตายสิ นี่ไม่ใช่ยุคก่อนประวัติศาสตร์นะ ที่การเปลี่ยนแปลงต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป

แล้วอะไรหละที่สามารถดึงมันให้หลุดพ้นจากวังวนสมองตันที่น่ากลัวนั่นได้ อย่าเลย มันบอกตัวเอง อย่าเพิ่งไปถามหาวิธีแก้ถ้ามึงยังไม่รู้จักสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้มึงเป็นแบบนี้

การหดหายซึ่งความท้าทาย

มึงมีสามทางให้ตัวเอง
หนึ่ง ลาออกไปหางานใหม่และอย่าฝันว่าจะได้เจอของดี เพราะมีแต่พวกที่คิดแบบมึงนั่นแหละโคจรไปพบกัน ณ ที่แห่งนั้น
สอง เปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ให้ได้ แล้วพัฒนาให้มันดีขึ้น ไม่ว่าจะคนหรืองาน
สาม ไปตายซะ ไอ้กระจอกส์

เมื่อคิดได้ดังนั้นแล้ว “มันก็เดินไปตาย

ปล. เรื่องนี้เริ่มเขียนไว้ตั้งแต่ มีนาคม 2014 ผ่านไปสองปีครึ่งจึงกับมากดแสดงตน

มีความทุกข์จึงทำให้เรารู้จักความสุข

September 23rd, 2015 by

เตียงเข็ญซึ่งดำเนินการโดยบุรุษชุดสีเทาจอดรออยู่แล้วที่หน้าห้องพร้อมกับพยาบาลสาวถือแฟ้มประวัติยืนขนาบข้าง จุดหมายถัดไปคือห้องผ่าตัด รถเข็ญเริ่มเคลื่อนไปข้างหน้า เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา เข้า ออกลิฟท์ เข้าห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าอีกครั้ง แล้วก็ต้องมารอเข้าคิวที่ห้องรอผ่าตัด วิสัญญีแพทย์กับผู้ช่วยเข้ามาสอบถามอาการพร้อมกับเปิดแฟ้มประวัติเพื่อที่จะตรวจสอบว่าเขาจะฉีดยา ดมยาและสอดเครื่องช่วยหายใจไปท่าไหน

bhornRama

ผมตั้งใจเอาไว้ว่ารอบนี้จะจดจำเหตุการณ์ก่อนเข้าห้องผ่าตัดและขณะอยู่ในห้องผ่าตัดห้วงเวลาก่อนที่ยาสลบจะออกฤทธิ์ให้ได้มากที่สุด เริ่มตั้งแต่หลังจากเปลี่ยนชุดเพื่อเข้าห้องผ่าตัดแล้วมานอนรอ ซึ่งมีพนักงานชุดเขียวเกินครึ่งโหลนั่งๆ ยืนๆ รอเข็ญผู้ป่วยเข้า ออก ตามตารางเวลา

ให้ตายเหอะชีวิตพวกเขาดูแล้วช่างน่าเบื่อหน่ายในมุมมองของผม แต่เขาเหล่านั้นอาจจะมีความสุขกับสิ่งที่ทำอยู่ก็ได้ เว้นว่างจากการเข็ญเตียงก็มาถอนผมหงอก เก็บสิวเสี้ยนให้กันและกัน มองดูแล้วก็น่ารักดี

ทันใดนั้นสมาชิกวงคลาสสิคร็อควิสัญญีแบนด์ก็โผล่เข้ามา พร้อมกับคำอธิบายปนขู่ว่าถ้าพลาดมันอาจจะอย่างนั้นอย่างนี้ ก้อนเนื้องอกใหญ่ขนาดไหน เราจะสอดสายช่วยหายใจเข้าได้หรือเปล่า ถ้าสอดไม่ได้เลเซอร์ก็จะยิงลำบาก อาจจะต้องเปลี่ยนไปยิงอ๊อกซิเจนแทนไหม และคำถามคลาสสิคสำหรับทุกคนที่ถามมัน เคยผ่ามาก่อนหรือเปล่า แน่นอนคำตอบก็คลาสสิคพอกัน “ไม่ต่ำกว่า 50 ครั้งครับ” ทุกคนรอบข้างก็เงียบไปสักพัก เมื่อตั้งหลักได้เขาก็มาพร้อมกับคำถามชุดใหม่ คำตอบสุดท้ายจากหัวหน้าวง “เตรียมมาให้หมดแล้วค่อยถามอาจารย์อีกที” ทุกคนก็หันกลับไปเตรียมของ ทันใดนั้นสาวๆ เกิร์ลเจนเนอเรชั่นที่หยุดจากการบีบสิวก็พุ่งปรี่เข้ามาหามันเพื่อเตรียมเข็ญผู้ป่วยไปยังเวทีคอนเสิร์ต

ทุกครั้งที่เข้ารับการผ่าตัดมันจะคิดถึงพ่อ พ่อคนที่ใส่คอนแทคเลนส์สีแดงและฉีดน้ำยาดับกลิ่นปากยี่ห้อรวงข้าวตลอดเวลา พ่อของมันจะมีตารางเวลาพบปะเพื่อนฝูงแบบประจำ ทำให้มันต้องอยู่กับแม่ เรากางมุ้งนอนที่ริมสระก่อนมืดก็นั่งในมุ้งดูคนอื่นๆ วิ่งออกกำลังกายใช้เครื่องเล่นต่างๆ รอบๆ สระซึ่งตอนนี้ถูกถมเปลี่ยนเป็นลานจอดรถและตึกแห่งใหม่ หลังจากโตพอที่จะอยู่คนเดียวได้เราก็ย้ายเข้านอนที่ตึกซึ่งมีห้องพักผู้ป่วย อาจจะเป็นเพราะพี่ชายคนกลางเพิ่งจบและบรรจุเป็นข้าราชการจึงสามารถมีเงินพอจ่ายค่าห้องพักได้ในราคาสองร้อยบาท ซึ่งห้องพักเตียงรวมนั้นให้ญาติเฝ้าไข้ได้เพียงคนเดียว ถ้ามีญาติมาด้วยก็ต้องนอนระเบียงข้างนอกซึ่งติดหรือใกล้กับเตียงผู้ป่วยนั่นแหละมีหน้าต่างมุ้งลวดกั้นเอาไว้ ถ้ามันมากับพ่อสองคนจะทำให้ต่างคนต่างมีเวลาส่วนตัวเป็นของตัวเองสูง ขายหัวเราะ มหาสนุกถือเป็นเพื่อนยามนั่งคนเดียวบนเตียงผู้ป่วย

ประตูห้องผ่าตัดเปิดออก ข้างในสมาชิกวงโปรเกรสสีพร็อคต่างสาละวนอยู่กับการเตรียมอุปกรณ์ดนตรีของตัวเอง ในห้องตอนนี้เต็มไปด้วยมนุษย์ชุดเขียวกว่าสิบชีวิตที่ต้องทำการรักษาคนไข้แค่คนเดียว ทีมดมยาวิสัญญีแบนด์จะเข้าถึงตัวก่อนเสมอพร้อมกับพูดหลอกล่อให้มันตายใจขณะฉีดยาสลบอ่อนๆ เข้าสายน้ำเกลือ ไม่ถึงนาทีมันก็รู้สึกถึงความมึนตามตัว แต่ก็ยังตั้งสติเก็บบทสนทนาที่เกิดขึ้นรอบกาย หลังจากนั้นยาสลบชนิดเข้มจะถูกเร่งเข้าตามสายน้ำเกลืออีกครั้ง มันรู้สึกถึงเส้นเลือดทุกเส้นที่อยู่บริเวณที่เข็มน้ำเกลือปักอยู่เป็นความเจ็บแสบในเส้นเลือดที่ไม่มีสิ่งในเหมือน พร้อมๆ กับสัญญาณให้สูดอ๊อกซิเจนลึกๆ ไม่เกิน 5 ปื้ด มันก็ปิดสวิทซ์ตัวเอง

มีเรื่องนึงที่ทำให้มันอดอมยิ้มไม่ได้ ถ้าใครเคยเข้าห้องผ่าตัดคงเคยเจอ ในห้องหนึ่งจะมีทีมแพทย์มาจากหลายสาขาเพราะต้องทำหลายๆ อย่าง เหมือนแต่ละคนไม่ค่อยได้เจอกัน พอเห็นหน้าก็ทักทายกัน บ้างก็ชวนกันไปกินข้าวที่ไหนดี หรือได้ไปดูมารูนไฟว์หรือเปล่า ไปเที่ยวคราวก่อนสนุกไหม คงเป็นวิธีการผ่อนคลายก่อนรักษาคนไข้กระมัง

มันไม่สนุกหรอกกับการมีโรค ยิ่งจะทุกข์หนักเข้าไปอีกถ้าหากเรามีโรคแถมยังไม่มีเงินรักษา มันจะหนักกว่านั้นสำหรับผู้คนที่มีโรค ไม่มีเงินแถมยังไม่มีโอกาสเข้าถึงสถานบำบัดรักษา

สำหรับคนที่เกือบจะตาย แต่ไม่ตายอย่างมันแล้ว การมีทุกข์ทำให้มันรู้จักกับการมีความสุขเล็กๆ น้อยๆ มองชีวิตเป็นเรื่องธรรมดาแต่ก็ไม่ง่าย หาให้ได้เท่าที่ฝัน ทำให้ได้อย่างที่ตั้งใจอย่าเสียดายเรื่องที่เคยผ่านมา พลาดพลั้ง ขอโทษแล้วก็รับผิดชอบไป ถ้าจะหนีก็จะต้องวิ่งหนีไปจนตาย เพราะมันไม่รู้ว่าจะหยุดหายใจเมื่อไหร่ ทุกๆ ครั้งที่ดมยาสลบมันเปรียบเสมือนห้วงเวลาสุดท้ายถ้าไม่ตื่นมาก็ไม่มีอะไรดำเนินต่อ คงไม่ต่างอะไรในทุกๆ คืนที่หลับตานอนรอตื่นตอนเช้า

ความกลัวไม่มีจริงเป็นเพียงสิ่งที่สมองสร้างขึ้น แต่ผลที่เกิดขึ้นจากความไม่กลัวนั่นต่างหากคือเรื่องจริง ไม่ได้บอกตัวเองว่าต้องกลัวขอแค่ให้มีเพื่อเป็นความรู้สึกกระตุ้นเตือนก็พอ

การเข้าผ่าตัดในรอบนี้ทำให้มันเริ่มคิดถึงอะไรหลายๆ อย่าง หลายๆ อย่างที่อยากจะทำแต่ยังไม่ได้ทำ งานอดิเรกเล็กๆ น้อยๆ อื่นๆ อีกมากมาย ถ้าจะเผลอไผลไม่ใส่ใจคงต้องใช้เหตุการณ์ปวดแสบเส้นเลือดเป็นสิ่งเตือนใจให้ต้องทำ บางอย่างที่เคยผ่านเคยมีในชีวิตประจำวันก็จำเป็นต้องปล่อยทิ้งไปบ้างก็คงไม่เป็นไร เพราะมีสิ่งใหม่ที่เข้าคิวรอไว้ให้มันได้ทำอยู่แล้ว

มีความสุขกับวันไหม่และชีวิตที่ปลอดภัยไร้โรคครับ

หนี

March 6th, 2015 by

จะว่าไปแล้วมันก็เหมือนหนังเรื่องเก่าที่เอากลับมาฉายใหม่อีกครั้ง มันนอนมองหลอดไฟไปตามทางเดินในขณะที่ที่บุรุษเวรเปลห้องผ่าตัดกับลังเข็ญผู้ป่วยไปสู่ຫ້ອງປະຕິບັດການ จากเตียงที่หนึ่ง ย้ายข้ามไปเตียงที่สองเปลี่ยนจากชุดสีขาวเป็นสีเขียวและย้ายข้ามไปเตียงที่สาม

ลืมตากว้างๆ แล้วสูดหายใจลึกๆ นะคะ

Bhorn's tag wrist

เรื่องเล่า 1983

มันเป็นช่วงสายของวันธรรมดาวันหนึ่งในช่วงต้นปีของ ค.ศ. 1983 ของคนอื่นๆ แต่สำหรับครอบครัวของ “ต้นตระกูลแห่งหำ”​ แล้ว มันไม่ได้ธรรมดาเลย ลูกลำดับที่ 9 ยังนอนหายใจรวยระรินอยู่บนเตียงผู้ป่วย ไม่มีความคืบหน้าด้านการรักษาใดๆ แม้หมอ แพทย์​ พยาบาล ภารโรง แม่บ้าน ก็ไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่ามันป่วยด้วยโรคอะไร

วันแล้ว วันเล่าที่พ่อแม่ พี่สาว พี่ชายต่างมานั่งเฝ้าไข้ สลับหมุนเวียนกันไปเหมือนรอแค่วันตาย หรือนี่จะเป็นวาระสุดท้ายที่ครอบครัวนี้จะต้องมีเด็กชายมาตายจากไป หลังจากที่คนก่อนล้มตายไปด้วยเพียงเพราะร้องไห้ไม่หยุดหรือโรคลึกลับด้วยอายุเพียงไม่กี่วัน

ปฏิบัติการ

กองโจรได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเอาไว้หลอกล่อเจ้าหน้าที่ แพทย์และพยาบาล อีกกลุ่มมีไว้สอดส่องทางหนีทีไล่และรอด้วยหัวใจระทึกที่หน้าต่างห้องพักผู้ป่วย ร่างที่มีแต่หนังหุ้มกระดูกหนักไม่ถึง 7 กิโลกรรมถูกส่งลอดหน้าต่างชั้น 1 ของโรงพยาบาลออกไปยังกองโจรด้านนอก เพื่อหนีมุ่งหน้าไปหาที่พึ่งสุดท้าย

มันถูกห่อเอาไว้ในผ้าห่มทอฝีมือแม่ เก็บมิดชิด อย่าแม้แต่จะได้ยินเสียง เพราะมันร้องได้มาหลายเดือนจนไม่มีเสียงให้ร้องอีกแล้ว เหมือนเป็นการดิ้นรน ทิ้งทวนครั้งสุดท้ายของครอบครัวหลังจากที่พี่ชายคนกลางของมันมาบอกพ่อว่า ที่คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น เขามีแผนก หู คอ จมูก เราน่าจะไปวัดดวงกันดู

ห้าชั่วโมงผ่านไปกับระยะทางร้อยกิโลเมตรจากอุดรฯ-ขอนแก่น รถหวานเย็นก็พาทั้งครอบครัวมาถึงที่หมาย แน่นอนแค่เพียงไม่นาน แพทย์ก็สามารถวินิจฉัยและจัดการตัดเนื้องอกเจ้าปัญหาที่ขัดขวางการหายใจมันได้สำเร็จ เด็กชายกลับมาร้องไห้เสียงดังอีกครั้ง

ฟื้น

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มันกับเนื้องอกในลำคอก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเสมอมา อาการเสียงแหบ ไปหาหมอ ดมยาสลบ ตัดเนื้องอกทิ้งกลายเป็นกิจวัติประจำสัปดาห์ เดือน ปี ของมันเสมอ

มันไม่ใช่เนื้อร้าย มันไม่ใช่เนื้อดี เป็นเป็นสิ่งที่โผล่มาพอเป็นพิธีเพื่อสร้างความรำคาญให้แก่ชีวิต ซึ่งด้วยความที่มีโรคประจำตัวตั้งแต่เด็ก มันจึงถูกสั่งงดกิจกรรมการใช้เสียงเกือบทุกชนิด แม้แต่การหัดเล่นกีต้าร์ ร้องเพลงก็ยังต้องคอยแอบซ่อน (แต่ใช่จะมีใครห้ามมันได้)

สภาพของผู้ป่วยนอกในยุคนั้นคงไม่ต้องมาสาธยายให้เห็นภาพกันมากมาย เรือนพักญาติที่มีบริเวณเพียงน้อยนิด ผู้คนก็แทบจะนอนกองทับกันอยู่แล้ว มีเพียงแค่หน้าฝนเท่านั้นที่มันจะได้มีโอกาศไปนอนในนั้น กับราคาคืนละ 10 บาท ริมสระหน้าโรงพยาบาลเต็มไปด้วยยุง มุ้งของทั้งผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย หลักๆ แล้วมันจะนอนแค่กับแม่ ส่วนพ่อนั้นด้วยความเป็นบุรุษที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี จึงมีเพื่อนมากเป็นพิเศษ แม้จะเพิ่งเคยเจอกับคนแปลกหน้าเป็นครั้งแรกก็ตาม หาตัวแกได้ตามป้อมยามหรือร้านขายของชำเล็กๆ แถวเรือนพักญาติ

แม่มีหน้าที่เฝ้าไข้ ส่วนพ่อมีหน้าที่นำทาง เมา และเดินเรื่องสงเคราะห์ผู้ป่วยยากจนหลังจากผ่าตัดเสร็จ เพื่อที่จะได้เสียค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทุกๆ ครั้งที่พ่อไปทำเรื่องสงเคราะห์ผมจะถูกพ่อเทรนเรื่องคำพูดที่ต้องบอกเจ้าหน้าที่ก่อนเสมอ (ด้วยเสียงสดใสหลังจากผ่าตัดเสร็จ) แม้กลิ่นเหล้าของพ่อจะคละคลุ้งเป็นบางครั้ง แต่เราก็จ่ายค่ารักษาครั้งละ 300-500 บาทตลอดมา

จากลา 1994

หลังจากมันปั่นจักยานด้วยระยะทาง 10 กิโลเมตรกลับจากโรงเรียนมาพบกับบ้านที่เงียบสงบ ไม่มีใครอยู่บ้าน เสียงคุณอาข้างบ้านตะโกนบอก “พ่อใหญ่อาการทรุดไปโรงพยาบาลตั้งแต่บ่ายแล้ว”

อุณหภูมิแตะ 8 องศา 28 ธันวาในค่ำคืนก่อนปีใหม่ มันนั่งหนาวสั่นระริกอยู่ข้างแม่ พ่อนอนต่อสายยางอยู่ในศูนย์รอจ่าย เสียงแหบพร่าเรียกหาลูกชายคนโต

เป็นวันสุดท้ายที่มันได้เห็นแววตาของพ่อ

นับตั้งแต่วันที่พ่อจากไป โรคร้ายที่คอยมาเยือนปีละหลายหนก็หายไปโดยไม่ลาเช่นเดียวกัน มันจึงบอกลาฉายา “แหบมหาเสน่ห์” ตั้งแต่นั้นมา แต่มันก็ระลึกในคำของแพทย์ประจำตัวเสมอว่าโรคนี้มันไม่หายไปไหน แค่มันจะโยกย้าย ผลุบ โผล่ที่อื่นหรือวนกลับมาที่เดิม รอและอย่าได้กลัว

สวัสดีเพื่อนเก่า 2015

มันนาน นานเสียจนเกือบลืม เป็นเวลายี่สิบปีผ่านไป สิ่งที่เราหนี สิ่งที่เราอยากจะบอกลาเหมือนมันจะไม่เป็นดั่งที่เราปราถนา โรคเก่ากลับมา กลับมาพร้อมกับความหลังเพียงแค่รอบนี้เวลาเกิดห่างกันจากครั้งล่าสุดไป 20 ปี พ่อ แม่ไม่ได้มานั่งเฝ้าแต่เปลี่ยนเป็นการบีบคอเพื่อนมาเฝ้าแทน

เทคโนโลยีทางการแพทย์ยุคปัจจุบันช่างเปลี่ยนไปมากมายนัก เตียงผู้ป่วยสภาพเหมือนหลุดออกมาจากหนังสมัยสงครามเวียดนามไม่มีให้เห็นแล้ว ไม่ต้องพะรุงพะรังหอบแฟ้ม ฟิล์มเอ๊กซเรย์เดินไปเดินมา เพียงแค่แสกนรูม่านตา เอ้ย ยิงปลอกแขนพร้อมบาร์โค้ดก็พอ ห้องพักผู้ป่วยโรงบาลรัฐระดับห้าดาว ถ้ามีเบียร์แช่ไว้ในตู้เย็นด้วยเนี่ย มันคงให้หกดาวเลย

ฟื้น 2

สิ่งแรกที่มันมักจะทำเสมอหลังผ่านตัดเสร็จก็คือพยายามเซ็กส์เสียงตัวเอง เพื่อที่จะยืนยันว่าหมอไม่ได้ตัดเอากล่องเสียงมันออกไปด้วย ในรอบนี้ทันทีที่รู้สึกตัวมันก็เปลงเสียงเบาๆ “ผมฝัน” สาวๆ ชุดเขียวสามสี่คนข้างๆ ก็พูดพร้อมกัน “ได้ตัวเด็ดๆ อะไรมั่งคะ” ในใจก็อยากจะบอก 472

กลับมาที่ห้องพักผู้ป่วย พยาบาลที่ดูแลบอกว่า “มันดูไม่เหมือนคนไข้ผ่าตัดที่เพิ่งฟื้นจากดมยาสลบมาเลย” หลับไป 45 นาที ลืมตาขึ้นมามันแดกข้าวก่อนเป็นอันดับแรก อาจจะเป็นเพราะเจอหมอขั้นเทพก็เป็นได้

ไม่ใช่ทุกเรื่องที่เราจะสามารถหลีกลี้หลบหนีมันได้ โรคที่หาสาเหตุนี้ไม่ได้นี้ก็เช่นกัน เมื่อหนีไม่ได้ก็ต้องสู้กับมัน อาจจะรวมไปถึงทุกๆ เรื่องในชีวิต

ขอบคุณทุกความห่วงใยและ @อันนพ ที่สละเวลาชีวิตมาเฝ้าไข้ในครั้งนี้

มีความสุบกับการใช้ชีวิตครับ

บ้านเก่า

November 29th, 2013 by

-1-

เมื่อที่ผ่านมาผมได้แวะกลับไปซดลาบที่รัชดาซอยสิบอีกครั้ง หลังจากที่ห่างหายไปนาน ขณะที่นั่งรอเพื่อนมาสมทบอยู่นั้นผมก็พลางนึกถึงวันเก่าๆ เพราะร้านลาบรถเข็ญ “ดุ๊ก ลาบยโส รัชดาซอยสิบ” ก็ผ่านสมรภูมิลาบในตำนานมาหลายปี นึกถึงวันแรกที่พี่เขามาเปิดขาย มันก็นานเหมือนกันนะ หก เจ็ดปีเข้าไปแล้ว

ในซอยสิบผู้คนพลุกพล่าน ผิดกับเมื่อก่อน ถ้าเลยสามแยกปากซอยเข้าไปแล้วมีแต่ป่าทั้งนั้น ผมยังจำได้แม่น มีเจ๊คนหนึ่งเคยกล่าวหาว่าผมเป็นโจรวิ่งราวเพราะในซอยมันเปรี้ยวจริงๆ ผมเคยเอาลิ้นเลียชิมมาแล้ว ผสมกับในตอนนั้นเสียงลือเสียงเล่าอ้างก็เยอะพอสมควร บางครั้งเที่ยงวันสาวๆ นั่งทานข้าว โทรศัพย์มือถือวางอยู่ข้างๆ มันวิ่งมาหยิบไปหน้าตาเฉย

ก่อนที่ “กวงทะเลเผา” จะบุกประชิดยึดหัวหาด ร้านลาบยังตั้งอยู่ตรงปากซอยแถวๆ สามแยก ถ้าเกิดวันไหนพวกผมมาครบทีม (ซึ่งสมัยก่อนมันก็ครบทุกวัน) สามแยกนั้นจะกลายเป็นสามแยกปากหมาไปในบัดดล

-2-

สำหรับพื้นที่ที่ความเจริญกำลังจะเข้าถึงมักจะมีตึกสูงที่กำลังจะสร้าง ตึกใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จ ผู้คนหน้าใหม่ที่ยังไม่คุ้นชินกับพื้นที่ ก่อนหน้านี้รัชดาซอยสิบก็อยู่ในสภาวะแบบนั้น ซีเคียวริตี้การ์ดถือเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย

ผมยืนอยู่ข้างพี่ดุ๊ก เจ้าของร้านแกกำลังพักเบรคจากการสาละวนซ๊กเล็ก ซีเคียวริตี้การ์ดหน้าใหม่ หนุ่ม ก็เดินมาจอดที่หน้ารถเข็ญ ปกติแล้วอาหารที่พวกเราเผ่าพันธุ์เดียวกันก็กินลาบดิบๆ พร้อมกำชับ “ขมแป๋ตาย”

“เอาหยังคับ” เจ้าของร้านถามออกมาตามปกติ
“แจ่วซื่อๆ ขายบ่คับ เข่าเหนียวนำ สิบบาท”

ภาพชายทั้งสองยังติดตาผมอยู่เสมอ วันนั้นพี่ดุ๊กทำแจ่วให้ไป ข้าวเหนียวสองถุง คิดตังค์ห้าบาท พร้อมทั้งยังมีเรื่องราวมากมายผุดผายขึ้นมาขณะที่เขายังยืนรอแจ่วอยู่ตรงนั้น

-3-

“อ้ายสิตีเข่ามื้อแลงเด้อ มื้ออื่นขนขึ่นเฬ่า”

SMS จากพี่ชายส่งมา ผมเพิ่งนึกได้ ว่าเคยบอกแกไว้จะกลับมาตีข้าวด้วยกัน (ตีข้าวคือไรฟะ) แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ไป สงสัยคงหลังปีใหม่ถึงจะได้ไป “ลงปลา” ไม่ว่าจะเป็นการกลับไปเยี่ยมที่บ้านครั้งใด ผมก็อดไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ จะได้กลับมา ผมเคยถามพี่ชายว่าทำไมต้อง “hit rice” ทำไมไม่สี เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีไปถึงไหนแล้ว สีง่ายเสร็จเร็ว แกตอบมาฉับไว ปีก่อนๆ ก็สีนั่นแหละ แต่ข้าวมันหายไปตามเครื่องสีหลายกระสอบ กลับมาตีเอาดีกว่า ข้าวน่าจะอยู่ครบทุกเม็ด ที่เหลือก็เอาไปเกียหนู เกียไก่

สงกรานต์ปีหน้าคงต้องถึงเวลา ขุดสระเลี้ยงปลา ปลูกกล้วย ปลูกหญ้า (ปลูกหญ้าแซมกล้วย) ในที่ดินผืนเล็กๆ เท่าหอยเท่าปูที่พี่สาวแบ่งไว้ให้ เผื่ออนาคตจะได้กลับไป “บ้านเก่า” ทำเซฟเฮ้าส์ไว้ต้มเหล้ากินเอง

เหมือนจะอยู่นาน แต่คงอยู่ไม่นาน

มีความสุขกับการใช้ชีวิตครับ

แสวงหา

February 29th, 2012 by

หากสงสัยก็จงตั้งคำถาม เมื่อตั้งคำถามแล้วก็จงหาคำตอบ

โลกทุกวันนี้การหาคำตอบ ไม่ใช่แค่การ “ถาม” หรือ รอฟังจากผู้รู้ รอดูจากผู้เคยเห็นเท่านั้น การ “อ่าน” และการ “ค้นคว้า” ไม่ว่าจากแหล่งความรู้ใด ใด แล้วนำมาแยกแยะว่าอันไหนจริง อันไหนลวงนั่ถือเป็นประเด็นที่สำคัญยิ่งยวดไปกว่าการรับรู้ เชื่อ โดยไม่ไตร่ตรอง คัดแยก

ความโหดร้ายของการใช้ความรู้ที่ผิดๆ ไปทำร้ายผู้อื่นนั้นมันน่ากลัวยิ่งนัก

เมื่อเรารู้ว่า เสิร์ชเอ็นจิ้น นั้นมีหลายด้าน เราก็เลือกเอาด้านที่มันดี แต่ปัญหาของมันไม่ได้อยู่ที่ เรามีเครื่องมือค้นหาที่เจ๋งป๊าบ แต่มันอยู่ที่ เราใช้มันอย่างไร นั่นต่างหาก

วันนี้ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ วันที่ผมนั่งดูหน้าวอลล์ของ Facebook ตัวเองตามปกติ แต่ผมถูกสะกิดจากโพสต์อันหนึ่ง มีเพื่อนแชร์มา เขียนว่า โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ใช้ 365 วัน 5 ชม. 48 นาที 46 วินาที,
คนทำปฏิทินจึงเก็บเศษ 5 ชม.กว่านั้นไว้ รอมาทดรวมกัน เป็นวันที่ 29 กุมภา
สิ่งแรกที่ผมวาบขึ้นมาในหัวคือ “มันง่ายขนาดนั้นเลยหรือวะ

ถ้าหากไม่สงสัย ไม่ตั้งคำถาม ไม่นำไปเล่าต่อ มันจะไม่เกิดปัญหาอะไรตามมา แต่หลายครั้งคนเรามักเล่าอะไรสั้นๆ ง่ายๆ ปราศจากรายละเอียดแล้วเกิดความเข้าใจผิดๆ สร้างดราม่ากันเรื่อยไป เรื่องเล็กๆ บางทีมันไม่เล็กนะครับ ไม่เชื่อไปถามแพทย์จิตวิทยาดู ว่ามันเล็กจริงไหม

จากความสงสัยข้างต้นผมจึงเริ่มหาข้อมูลไปเรื่อย เจอรูปโป๊บ้าง ไม่โป๊บ้าง เจอรถไถนาบ้าง กระสอบปุ๋ยบ้าง น้ำมันเครื่องบ้าง ดาราสามเศียรบ้างตามปฏิทิน แต่มันไม่เกี่ยวกันนี่หว่า ตั้งหลักใหม่

ได้รู้ว่า จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้ 1 ปี มีอยู่ 10 เดือน ตามปฏิทินของเก่าแก่ของโรมัน (ประมาณ 753 BC) โดยเดือนแรกเริ่มที่ 1 มีนาคม (Martius) ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาไม่นาน (713 BC) Numa Pompilius กษัตริย์องค์ที่สองก็ได้เพิ่ม วัน เข้าไปเพื่อให้ตรงตามปฏิทินแบบจันทรคติของชาวบาบิโลน คือต้องเพิ่มอีก 51 วัน (จาก 304 วันที่มีอยู่ตามปฏิทินเก่า) ด้วยความที่เชื่อในเรื่องเลขคี่จะนำมาซึ่งโชคลาภของชาวโรมัน Numa ได้ดึงเอา 1 วันของเดือนที่มี 30 วันเดิมออกมาให้เหลือ 29 วัน (Aprilis / Iunius / Sextilis /September / November / December) กลับกลายเป็นว่า จากที่ต้องการ 51 วัน ได้เป็น 51+6 วัน เพื่อเอามาแยกเป็นอีก 2 เดือน ทำให้ชื่อเดือนจาก Quintilis – December ไม่ตรงตามการเรียงลำดับเดิมไปด้วย Quintilis มาจาก quinque แปลว่า ห้า / Sextilis มาจาก sex แปลว่า หก จนถึง December มาจาก decem แปลว่า สิบ โดยให้เดือนมกรา (Ianuarius) มี 29 วัน และความซวยเลขคู่ไปตกที่ Februarius 28 วัน

จึงทำให้ กุมภาพันธ์ต้องถูกแบ่งออกเป็น 2 ท่อนอีกที ท่อนแรก 23 วัน ท่อนหลัง 5 วัน

เวลาผ่านไปหลายร้อยปี จนกระทั่ง 153 BC วันที่ 1 มกราคม ก็กลายเป็นวันขึ้นปีใหม่

48 BC จูเลียส ซีซาร์ สร้างปฏิทินจูเลี่ยนขึ้น โดยดัดแปลงจากปฏิทินโรมัน กำหนดให้ 1 ปีในปฏิทินจูเลียนนั้นมีเวลา 365.25 วัน ทำให้ทุกๆ 4 ปี จะมีปีอธิกสุรธิน 1 ครั้ง

แต่เดี๋ยวก่อน ก่อนหน้านี้ กุมภาพันธ์ มี 30 วัน (ปีอธิกสุรธิน) และสิงหาคมมี 30 วัน จักรพรรดิออกุสตุส ซีซาร์ กลัวน้อยหน้า Julius Caesar ซึ่งได้เอาชื่อของตนเองไปเปลี่ยนจากเดือน Iiulius เป็น July เมื่อ 44 BC ออกุสตุส ซีซาร์ ได้เปลี่ยน Sextilis มาเป็น August เมื่อ 8 BC แล้วไปดึงเอาเวลาจากเดือนสุดท้ายของปีคือ Februarius มาเพิ่ม เพราะกลัวน้อยหน้า Julius Caesar

ปฏิทินจูนเลี่ยนใช้ต่อเนื่องกันมายาวนานตั้งแต่สมัยอาณาจักรโรมันจนถึงปี 1582 สันตปาปาเกรกอร์ ได้ปฏิรูปปฏิทินใหม่ คือ ปฏิทินเกรโกเรียน เพราะว่าปฏิทินจูเลี่ยนมีเวลานานเท่ากับ 365.25 วัน จึงทำให้เวลาของวัน Vernal equinox (วันที่มีเวลาตอนกลางคืนเท่ากับเวลากลางวันพอดี) ขยับเร็วไปด้วย ซึ่งยาวกว่าเวลาจริงคือ 365.2425 วัน ในปี 1582 ตามปฏิทินจูเลี่ยนวัน Vernal equinox จะตรงกับ วันที่ 21 มีนาคม แต่หตุการณ์กลับเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคมซึ่งขัดกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ จากที่ปฏิทินใหม่ประกาศใช้ ทำให้ พระสันตปาปา เกรกอรี่ที่ 13 ได้ออกประกาศให้หักวันออกจากปีปฏิทิน 10 วัน (จาก 4 ตุลาคม วันรุ่งขึ้นกลายเป็น 15 ตุลาคม 1582 *กรุณาค้นหาเพิ่มเติมจากคำค้น “ปฏิทินเกรโกเรียน”) พร้อมกันนั้นยังกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ (ก่อนหน้านี้หลายประเทศยังใช้ 1 มีนาคมเป็นวันขึ้นปีใหม่อยู่)

การเปลี่ยนแปลงแบบนี้จึงทำให้ยุโรปต้องเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินแบบเดียวกัน เพราะอยู่ใต้การปกครองของศาสนจักรและประเทศคาทอลิกเท่านั้นที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงในเบื้องต้น

ประเทศไทยเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินตามสากลในรัชกาลที่ 5 เดือนแรกของปีคือ เมษายน และเดือนสุดท้ายคือ มีนาคมและไทยได้เปลี่ยนมาใช้พุทธศักราชอย่างในปี พ.ศ. 2456 (ก่อนหน้านี้ใช้ปีรัตนโกสินทรศก)

ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการปรับเปลี่ยนปฏิทินอีกครั้งโดยปรับให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่และเป็นวันเริ่มต้นของปีแทนที่รูปแบบเดิม เริ่มใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2484 (อ่าเพิ่มเติมที่ ปฏิทินไทย)

ให้ตายเถอะอันนี้เป็นแค่เรื่องราวแบบผ่านๆ ที่ผมท่องเน็ตตามอ่านเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับตัวเอง สาเหตุจากความสงสัยแค่โพสต์หน้า Wall ใน Facebook ของเพื่อนแท้ๆ ค้นไปค้นมา อ่านไปอ่านมา ปฏิทินมันมีมากกว่า 1 ประโยคที่ได้อ่านมากมาย นี่ยังไม่หมดนะครับ ยังมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องอีกเยะมาก

เอาเป็นว่า 29 กุมภาพันธ์ ทำให้ผมรู้เรื่องปฏิทินเพิ่มมากยิ่งขึ้น เจอกันใหม่อีก 4 ปี

อายุ ไม่ใช่แค่ตัวเลข

August 29th, 2011 by

มันไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิม คือสิ่งที่ผมกำลังทำใจยอมรับ ไม่ได้บ่นถึงเรื่อง โน่น นี่นั่น มันคือเรื่อง สุขภาพและร่างกาย

พร อันทะ กำลังเล่นกีต้าร์ martin ที่ชายหาด ยามค่ำ

ร่างกายที่เมื่อก่อนมันถูกใช้ไปอย่างหนักหน่วง อดหลับอดนอน หามรุ่งหามค่ำ ทำโน่น นี่ นั่น คิดเสมอว่าทนได้

ใช่ มันทนได้จริงๆ ในช่วงนั้น

มีหลายคน คอยตักเตือนด้วยความห่วงใย ว่าพักบ้าง อะไรบ้าง ผมก็รับฟัง แต่ไม่ได้คิดว่ามันจะมาเร็วอะไรขนาดนี้

ผมไม่สามารถที่จะอดหลับอดนอน ทำงานหามรุ่งหามค่ำหน้าจอคอมพิวเตอร์เหมือนเมื่อก่อนได้อีกแล้ว ซึ่งในตอนนี้กลายเป็น ง่วงก็นอน เมื่อยก็ต้องยอมพัก

หลังจากที่พยายามดันทุรัง สองครั้งสองครา ทำให้ร่างกาย สมองไม่ฟื้น งานไม่มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นแล้ว คงไม่จำเป็นที่จะต้อง ดื้อด้าน เหมือนเมื่อก่อน

ใจ ยังสู้เต็มร้อย แต่ร่างกายมันไม่ไหว ไม่ต่างอะไรกับในวันที่ไปเตะบอล แล้ววิ่งตามเด็กไม่ทัน หรือเพื่อนส่งบอลให้แล้ววิ่งตามไม่ทัน ทั้งๆ ที่ใจมันทันบอลไปแล้ว

ยังไม่ยอมแพ้เสียทีเดียว ยังอยากที่จะคึกคัก คึกคัก ก็ปักกิ่ง ให้ได้ ยังไหว

ยังอยากจะมีความสุขกับการใช้ชีวิตเรื่อยๆ กับอายุ ที่ไม่ใช่แค่ตัวเลข

มองต่างมุม

July 4th, 2011 by

ผู้ชายกำลังใช้รถไถเดินตาม ไถนา
การอยู่ท่ามกลางข่าวสารที่ถาโถม เยอะแยะจนบางครั้งอาจจะเมาหมัดนักข่าว จนผู้เสพย์อย่างเราแยกแยะลำบากว่าอะไรจริง อะไรปลอม มันคลับคล้ายคลับคลาเหมือนเวลาเรามองคนที่ทำศัลยกรรมมา ต้องรอเวลาผ่านเลยถึงจะมองเห็นความชัดเจน ช่วงนี้ ผมหมายถึงช่วงหลังเลือกตั้ง กรกฎาคม 2554 การเมืองพลิกขั้ว ประชาชนเลือกข้าง ใช่ ชีวิตจริงเราก็ต้องเลือก เมื่อมีฝ่ายได้ ก็ต้องมีฝ่ายเสีย เจ็บปวดช้ำใจก็ตกไปอยู่กับคนที่พ่ายแพ้ การพ่ายแพ้ก็แค่พ่ายแพ้เพียงในนามของความเป็นสังคม การอยู่ร่วมกันในสังคม ผู้ชนะในวันนี้ ก่อนหน้าก็เคยปราชัยมาแล้ว ผู้แพ้ในวันนี้ก่อนหน้าก็เคยครองแชมป์มาก่อน สมบัติผลัดกันชม มันคือคำจริง ความจริงในโลกแห่งสังคมการเมืองการปกครอง ในวิถีของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหารอย่างมนุษย์

สำหรับผมเองแล้วอาจจะแยกแยะการดำเนินแห่งชีวิตออกเป็น 4 ระดับ คือ ตัวตน ครอบครัว สังคมและเหนือสังคม (ความตายและจักรวาล) ผมคิดว่าการแยกแยะชีวิตของตัวเองออกเป็น 4 แบบนี้ ทำให้ผมมีชีวิตและใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้ง่ายขึ้น ยิ้มง่ายขึ้น ทรมานตัวเองน้อยลง

สำหรับ 4 ข้อนั้น ผมเองไม่สามารถที่จะใช้การเรียบเรียง อย่างที่เขียนได้ตลอดเวลา การให้ความสำคัญกับสิ่งใด ก่อน หลังนั้น ต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยหลัก บางครั้ง สังคมก็ต้องมาก่อน หรือครอบครัวต้องมาก่อน บางครั้งก็ต้องเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง

อาศัยอยู่ในสังคมปัจจุบัน ในยุคของโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก รับจ้างสอนเด็กๆ บ้าง ผู้ใหญ่บ้าง เป็นงานรอง ทำงานอาสาเพื่อชาวบ้านบ้าง เป็นบางครั้ง การทำงาน ใช้ชีวิตอย่างหลากหลายวิถี อาจจะช่วยให้ผมมองเห็นความต่างในสังคมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น มองเห็นตัวตนของตัวเองได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

หลังจากที่ห่างหายสังคมออนไลน์อย่าง Facebook ไปหลายวัน วันนี้ผมกลับมาผมมอง Facebook ต่างไปจากเดิม มันทำให้ผมรู้สึกว่ายิ่งเข้าใกล้ Facebook มากเท่าไหร่ โลกและกรอบความคิดมันจะค่อยๆ แคบลง แคบลง ผมเองไม่สามารถมีเพื่อนใน เฟรนลิสต์ ของ Facebook ได้ถึง เจ็ดพันล้านคน ผมมีเพียงแค่ สองร้อยคนในนั้น มันทำให้ผมอยู่สึกว่าชีวิตมันเกาะติดอยู่ในอะไรบางอย่าง มากเกินไป ก็จริงหลายคนอาจจะบอกว่า “ก็มึงโง่เอง ที่ไปหลงเกาะติดอยู่กับมัน เขามีให้ใช้ประโยชน์ แต่ดันใช้ไม่เป็น” ผมก็ยอมรับ

เราเลือก ที่จะเสพย์ ข่าวที่เราอยากฟัง เราเลือกที่จะเชื่อ เสียงที่เราอยากเชื่อ เราเลือกที่จะเห็น สิ่งที่เราอยากเห็น เราทนไม่ได้ กับสิ่งที่เราไม่อยากให้มันเป็น

แน่นอนว่าเรามีสิทธิ์ที่จะเลือกเป็นเช่นนั้น แต่ผมเองอยากจะมองให้กว้างที่สุด เท่าที่จะทำได้ เพราะเราต้องอยู่ร่วมกันในสังคม

บางทีการมองว่าคนโน้น คนนั้น คนนี้ดี หรือไม่ดีมันอาจจะเป็นการตัดสินใจที่คับแคบมากเกินไป ตอนนี้ผมพยายามมองในเรื่องความเข้าใจในความต่างของแต่ละคน ซึ่งเป็นที่มาของแนวคิดอันนำไปสู่การตัดสินชี้ขาดคนอื่น

ผมรู้สึกไม่สะบายใจ ที่สังคมบ้านเราส่วนหนึ่งมักมองคนที่เห็นต่างว่า โง่ ไม่มีการศึกษา ถูกครอบงำ ชักจูงง่าย

แต่เราหลงลืมอะไรบางอย่างไปหรือไม่ อะไรบางอย่างที่เราหลงเข้าใจว่ามันถูกต้อง เพียงเพราะเราไม่ได้เอะใจตั้งแต่แรก เพราะมันสั่งสมมาเนิ่นนานจนเราคิดว่ามันถูก โลกหมุนวนในวงโคจร เวลาที่ถูกสมมุติขึ้นว่าเดินไปข้างหน้า มนุษยชาติกำลังเดินไปเรื่อยๆ และยังหาจุดหมายไม่เจอว่าเราจะเดินไปไหนกัน

ในประเทศที่ชอบนำสัตว์มาเปรียบเปรยกับสัตว์ด้วยกันเอง เพราะลืมไปว่าตัวเองก็คือสัตว์เหมือนกับสิ่งมีชีวิตจำพวกหนึ่ง จนกลายเป็นการเหยียดหยามสิ่งมีชีวิตเผ่าพันธุ์อื่นไปโดยปริยาย

ผมอยากจะรู้นักว่าอีก สองร้อยล้านปีต่อไป คน ควายและตัวเหี้ย ใครจะสูญพันธุ์ก่อนกัน ผู้ที่โง่ในสายตาที่ชอบตัดสินคนอื่น หรือผู้ที่อ่อนแอกว่า ย่อมสูญพันธุ์ก่อนใช่ไหมครับ

เราหลงระเริงกับสิ่งจอมปลอมที่เราสร้างขึ้นมากันเองในรอบไม่กี่ร้อยปีมานี้ จนตาลายทับถมเหยียดหยามสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ที่สำคัญต่อโลกใบนี้ไม่แพ้กัน

มองออกไปไกลๆ ไกลๆ เราจะเห็นความต่างที่อยู่ใกล้ตัวเรา ความต่างที่เราหลงลืมไป ลองมองในมุมใหม่ ชีวิตอาจจะยิ้มง่ายกว่าเดิม

มีความสุขกับการใช้ชีวิต ตามอัตภาพบ้าง จะเป็นไรไป อย่างน้อย ชีวิตนี้เราก็ไม่ได้ทุกข์ไปซะหมด

หมวกกันน็อค กับการพัฒนาเรื่อยๆ ของไทย

June 15th, 2011 by

วันนี้ผมได้อ่านบทความเกี่ยวกับหมวกกันน๊อค ของนายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัยที่เผยแพร่ในเว็บไซท์มติชนออนไลน์ เรื่อง “10 ความเชื่อผิดๆ ไม่สวมหมวกกันน็อค” แล้วก็รู้สึกสะท้อนใจ กับความจริงของวินัยของคนในประเทศชาตินี้เสียจริงๆ

ถ้าเป็นสมัยก่อน เด็กต่างจังหวัดอย่างผม ที่ไม่ใส่หมวกกันน็อคก็เพียงเพราะมีความ “คิดผิดๆ” ว่าการที่ขี่มอไซค์โดยที่ไม่ใส่หมวกกันน็อคโดยที่คนอื่นเห็นหน้าชัดๆ นั้นมันเท่กว่า ขับขี่แล้วใส่หมวกกันน็อค หรืออาจโชว์โง่ที่ว่า ตัวเองมีมอไซค์ขี่ ว่างั้น

แต่มันไม่ใช่เฉพาะเด็กๆ เห่อหมอยอย่างเดียวนั่นสิครับที่เป็น ส่วนใหญ่แล้วชาวบ้าน พี่ป้า น้า อา ก็เป็นกันทั้งนั้น บิดกันมันส์โดยไม่ใส่หมวก

คำว่าอุบัติเหตุ มันก็คือ “อุบัติเหตุ” วันยังค่ำ ไม่มีว่าก่อนเกิดมันจะแจ้งให้เรารู้ล่วงหน้า เพื่อที่จะให้เราได้ตั้งรับทัน อันนี้ไม่รวมถึงการโดนตำรวจจับ การที่ตำรวจจับโทษฐานไม่ใส่หมวกกันน็อค คงไม่มีใครคิดว่ามันเป็นอุบัติเหตุ แต่มันเป็นเพราะเราทำผิดกฎหมายต่างหาก ทำผิด โดนจับ ก็สมควรแล้ว

มีเงินซื้อมอไซค์ ไม่มีเงินซื้อหมวกกันน็อค มันก็เกินไป

ว่ากันต่อตามบทความที่อ้างมา กว่า 300,000 ราย ต่อปี ที่ต้องเข้ารับการรักษาเพราะอุบัติเหตุโดยจักรยานยนต์ อันนี้ถือเป็นประเด็นที่ผมสนใจ ที่ตายไปปีละหมื่นกว่า ยังไม่ต้องพูดถึง เอาสามแสนรายนี่ก่อน

ความเข้าใจผิดๆ ที่ว่า เกิดอุบัติเหตุแล้วเข้ารับการักษานั้น เงินที่ใช้รักษาหลายคนคงคิดว่า เงินใครก็เงินมัน เจ็บใครก็เจ็บมัน ผมคิดว่าความเข้าใจนี้ต่างหากที่ไม่ได้ถูกแก้ไขให้เกิดการเข้าใจอย่างถูกต้อง อาจจะเป็นเพราะบ้านเรายังมีสำนึกส่วนรวมน้อย ต้องใช้เวลาสร้างอีกสักร้อยปี

ค่ายา ค่ารักษา มันไม่ใช่เงิน 30 บาทที่ญาติๆ จ่าย หรือ เงินค่าสงเคราะห์ที่ทางโรงพยาบาลเปิดช่องให้ผู้ป่วยรายได้น้อยต้องเสียค่ารักษาต่ำกว่าความเป็นจริงที่ต่างจากคนทั่วไป

เงินอุดหนุนจากภาครัฐมากมายนั่นต่างหาก ถูกโยนเข้าไปกับค่ายาที่ต้องนำเข้า ค่าเสียเวลาที่ต้องรักษา ค่าบุคลากร

และเงินนั้น คือเงินภาษี จากเราๆ ท่านๆ

จริงๆ แล้วใส่ หรือไม่ใส่หมวกกันน็อคมันไม่ได้ช่วยลดอุบัติเหตุ แต่มันช่วยอุ้มไม่ให้สมองไหลไปเลอะเทอะถนน ไม่ตายก็เลี้ยงกันไป หมวกกันน็อคดีหน่อยกระแทกปานกลางก็ช่วยได้ปลอดภัย

รอบๆ บ้าน 100-500 เมตรคือรัศมีอันตรายที่เกิดอุบัติเห็ตุมากที่สุด เพราะคนคิดว่า ไปใกล้ๆ ไม่ใส่หมวกกันน็อค พอขี่ออกปากซอยปั๊บ สะก๊อยซ์ ปาดหน้าปุ๊บ รับทันทีเตียงรวม ชั้น 3 อาคาร 5

อยากเจอเหตุผล ฮา ฮา ที่คนไม่ชอบใส่หมวกกันน็อค เชิญอ่านได้ที่บทความ มติชนออนไลน์ เรื่อง “10 ความเชื่อผิดๆ ไม่สวมหมวกกันน็อค” ครับ

ว่าแต่ ผมยังไม่มีใบขับขี่มอไซค์เลยแฮะ

สารคามแดนฝัน

June 10th, 2011 by

ช่วงนี้ หมายถึงช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2554 ข่าวรับน้องมาแรงอีกคำรบ ที่สำคัญมีข่าวคราวจากสถาบันแดนฝันของกระผมขึ้นหน้าหนึ่งเสียด้วย

พร อันทะ ไปสอนพิเศษ

รุ่นน้องประท้วงรุ่นพี่จากการประชุมเชียร์ อันโหดร้าย ซึ่งจริงๆ แล้วตอนนี้ผมไม่รู้เป็นยังไง แต่สมัยที่ผมเข้าเรียน ที่มหาลัยมหาสารคามเมื่อ 11 ปีที่ผ่านมา ผมถือว่ากิจกรรมรับน้องเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ผมไม่ค่อยชอบ ไม่อยากเข้าและแอบหนีไปเตะบอลที่สนามโรงเรียนบ้านท่าขอนยาง บ่อยๆ (เตะใน มอ ไม่ได้เดี๋ยวพวกรุ่นพี่เห็น โรงเรียนบ้านท่าขอนยางก็อยู่ใกล้ๆ กันและอาจจะถูก มอ ข้างๆ อมสักวัน) หรือนอนอ่านหนังสือในห้อง เพราะคิดว่าสองอย่างนี้น่าจะมีประโยชน์กว่าการไป วิดพื้น 100 ครั้ง วิ่งจัดแถวให้ได้ภายใน 5 วิ กระโดดกบขึ้นลงบันได หรืออะไรก็ตามที่คนปกติเขาไม่ค่อยทำกันแต่พี่ว๊ากกกกก จัดหามาให้ ด้วยเหตุผลคลาสสิค “เพื่อความสามัคคี สมานฉันท์” แต่ยิ่งทำแม่มยิ่งแตกแยก

บางทีอาจจะมี การเยิ้บแก้กรรมน้องๆ สัก 2 ดอก ตามมาเหมือนที่แม่ชีบางท่านว่าก็ ไม่รู้

สาระพัด สาระพัน รูปแบบ 108 คำคมที่รุ่นพี่จะสรรหามาพูดเพราะๆ ตามประสา ให้รุ่นน้องกลัวขี้หดตดหาย

ใช่ว่าผมจะไม่เข้าร่วมเสียทีเดียว ไปน่ะ ไปบ้าง แต่ให้ไปทุกวันก็ไม่ไหว

สิ่งที่เหลือตอนนี้หลังเวลาผ่านไป 11 ปี คือเหลือเพื่อน 1 คน เพื่อนที่เจอกันแว๊บๆ ตอนรับน้อง แต่มาคุ้นเคยกันตอนเล่นกีต้าร์ เล่นดนตรีกันที่หอพักซะมากกว่า

ผมมันเป็นพวกไม่เข้าใคร ออกใคร คล้ายๆ ปอบ

ชีวิตมหาลัยจำได้แค่เวลาเมาที่หน้าร้าน “รักบ้านเกิด” ปลาเผา “ไผ่สีทอง” ผัดไท “คุณลุง จานใหญ่” ก๋วยเตี๋ยวหน้าร้าน สมสกุล ตื่นเช้าที่ห้องพักครูแล้วต้องรีบเก็บกวาดทำความสะอาด แล้วก็ปั่นจักรยานหนีไปกับอาจารย์ชายหล่อล่ำ ผิวคล้ำคนนั้น ก่อนที่คณะบดีโผล่เข้ามาเจอ

การเรียนผ่านไปด้วยเกรดดี อาจจะมี ซี บ้าง มีหนี้ กยศ. เหมือนนักศึกษาทั่วๆ ไป

ที่ผมเรียนไม่เก่ง เพื่อนไม่เยอะ สงสัยอาจเป็นเพราะผมไม่ค่อยเข้าประชุมเชียร์เสียเท่าไหร่ แต่สุดท้ายตอนนี้ผมก็ไม่ได้เสียดายกับมันมากมาย (จะไปเสียดายทำไมวะ) หมายถึงเรื่องการเรียนนั่นนะ แต่เสียใจที่ทำได้ไม่ค่อยดี เอ่อ ไม่ตั้งใจทำให้มันดีตั้งแต่แรก แต่บางทีถ้าตั้งใจทำให้ดีชีวิตมันคงไม่ได้เป็นแบบที่ปนอยู่ ทุกวันนีก็ สนุกดี กับชีวิตด้านๆ

เห็นด้วยไหมกับการรับน้อง ผมออกแนวเฉยๆ และเอนไปทางไม่อยากเอา เพราะมันไม่ใช่แค่รอบเดียว หลังจากรับน้องมหาลัย ต่อไปก็ต้องเจอรับในคณะอีก รับคณะเสร็จก็รับสาขาวิชาต่อ มึงจะรับกันไปถึงไหนไม่ทราบ

ไม่จำเป็นต้องให้น้องๆ มาประท้วงประจาน พี่ว๊ากกกกก ทั้งหลายน่าจะปรับเปลี่ยนการรับน้องให้มันเข้ายุคเข้าสมัยหน่อย พาไปกินไอติมบ้าง ลงท่งลงท่า ดำนาบ้าง เข้าสำนักศิลป์ วาดเขียนบ้าง ประกวดอ่านหนังสือบ้าง ปั่นหยักยานบ้าง อะไรบ้าง มิใช่ต้องมาฝึกวิ่ง ฝึกหมอบ คลาน ยังกะจะส่งน้องใหม่ไปรบที่สามจังหวัดชายแดนเยี่ยงนี้ มันก็ไม่ไหว

ไม่รู้ว่าเหตุการณ์คราวนี้จะจบลงยังไง น้องๆ ที่รวมกลุ่มกันประท้วงรุ่นพี่ว๊าากกกกก จะถูกตัดรุ่นหรือไม่ (เอ่อ มันมีไว้ทำไมวะ สายรุ่นนั้น รุ่นนี้เนี่ย กูไม่เห็นได้ใช้แฮะ) เอ๊ะ สำนวนนี้ พี่จ่าดราม่านี้หว่า เอาใหม่ๆ

ถึงยังไง สารคามแดนฝันหรือ มมส. ก็ถือเป็นสถาบันที่ผมร่ำเรียน ถูไปไถมา ตลอด 4 ปี มันก็คงเป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในจังหวัดมหาสารคาม อยู่วันยังค่ำ

บทเพลงแห่งความทรงจำ (1)

May 5th, 2007 by

ความทรงจำเก่าๆ จักพร่างพรายกลับมา ถ้าหากได้ยินเสียงเพลงเหล่านั้นขับขาน ชวนย้อนให้กลับไปนึกถึงอดีต ที่ล่วงเลยเก่ากาล ภาพแห่งวันเก่าเหล่านั้น กลับมาโลดแล่นในสมองอีกครั้ง

สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ตามประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านพบ แต่จักอิ่มเอิบกับความรู้สึกมิเบื่อหน่าย แม้บางอย่าง บางบทเพลงจะคอยทิ่มแทงใจ แต่ก็ยังคงพร้อมที่จะกลับไปดื่มด่ำกับความทรงจำเก่าๆ มิเสื่อมคลาย

เมื่อใดเสียงดนตรีรำพัน สองหูได้ยิน สมองส่วนนั้นจักสั่งการขุดคุ้ยความทรงจำที่พานพบกลับมาทันที ไม่ต้องหยุดคิดให้เสียเวลาว่านั่นคือชีวิตช่วงไหน

ชีวิตผมส่วนใหญ่ จึงผูกติดอยู่กับเสียงดนตรี

ทุกๆ เช้า เมื่อเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา บทเพลงที่คอยขับขานทุกเมื่อเชื่อวันคงเป็น Handy Man ของ James Taylor, Heart of Gold ของ Neil Young และ Baby Can I Hold You ของ Tracy Chapman ฟังดูแล้ว ออกแนวเพื่อชีวิตทั้งนั้น ยังมีอื่นๆ อีกหลากหลายวกวนเวียน ไม่เว้น Have you ever seen the rain ของ CCR

พี่ชายของผมที่เพิ่งเข้ารับราชการครูใหม่ๆ กลิ่นอายนักศึกษา ปี 4 ยังไม่จางหาย คอยเปิดเทปเพลงพีค๊อกที่เพื่อนๆ จาก มหาลัยพากันฟัง ทุกเช้า

ผมยังไม่เข้า ป. 1 ด้วยซ้ำ

สามสี่ปีต่อมา บทเพลงลูกทุ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิต เพลงเอกประจำใจ คงหนีไม่พ้น สาวจันทร์กั้งโกบ ที่ถือเป็นตราประทับหน้าผาก เพราะงานไหนงานนั้น ผมร้องอยู่เพลงเดียว

ช่วงปี 2534-35 เสียงเพลงเพื่อชีวิตแทรกซึมเข้าสู่ร่างกาย อิทธิพลที่รับมาเต็มๆ คงหนีไม่พ้น พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ เพลงโรงเรียนของหนู ทำให้ผมต้องหัดเล่นกีต้าตั้งแต่อยู่ ป. 4 สองปีถัดมา ผมจึงร้องและเล่นกีต้าร์เป็นเพลงได้ตอนเรียน ป. 6 ในเพลง ไถ่เธอคืนมา

สมัยเรียน ม. 2 เพลงสากล หวนกลับเข้าสู่โสต อีกครั้ง Scorpions คือกลุ่มร็อกแรกๆ ที่ไหลซึมเข้าสู่เส้นเลือด ตามมาด้วย The Eagles พร้อมๆ กับย่างกลายเข้ายึดตำแหน่งมือเบส ในวงดนตรีโรงเรียน เพราะว่า แต่ละคนอยากจะเล่นกีต้าร์กันทั้งนั้น ผมไม่ค่อยสู้คน ก็เลยปล่อยมันไป หลังจากที่ก่อนหน้านี้ลองตีกลองอยู่ช่วงนึง แต่มีคนตีได้ดีกว่าเลยยกกลองให้เขาไป

Deep Purple, UFO เริ่มไหลเข้าสู่ชีวิตในช่วง ม.ปลาย หลายคนอาจจะสงสัย ทำไมมันยากเย็นขนาดนั้นวะ มันก็ยากสิครับ กว่าจะได้เทปม้วนนึงๆ นี่ เลือดตาแทบกระเด็น รับจ้างตัดอ้อยอยู่ตั้งหลายวัน (เรื่องจริงครับ รับจ้างตัดอ้อย) ระยะทางระหว่างตัวเมืองกับบ้านก็ใช่ว่าจะใกล้ ไหนจะถนนลูกรัง รถสองแถววิ่งวันละไม่กี่คัน

ซ้อมดนตรีเสร็จตอนเย็นก็ต้องรีบปั่นจักยานกลับบ้านอีก 10 กิโล ลัดเลาะไปตามชายเขา ถ้าวันไหนกลับถึงเร็วก็ต้องออกไปซ้อมฟุตบอล ที่สนามโรงเรียน กีฬาประจำตำบลรออยู่ ตัวเล็กกว่าเพื่อนในทีม แต่ได้เล่นเป็นปีกซ้าย อาศัยวิ่งเร็ว และพี่ชายเป็นกัปตันทีม พี่เขยเป็นเซ็นเตอร์ฮาร์ฟ ลุยกันตามประสาบ้านนอก ใส่เสื้อหลากสี รองเท้าตามมี

กลับมาจับกีต้าร์อีกครั้งในช่วง ม.ปลาย เพราะเพื่อนที่เล่นกีต้าร์ตอน ม.ต้น หนีไปเรียนสายอาชีพ เพราะเกลียดคุณครูสอนวิชาพระพุทธศาสนา และเพลงใกล้รุ่ง ได้กลายเป็นเพลงบังคับสำหรับการแข่งขันตั้งแต่นั้นมา

อาการมึนงง หลังจากสอบติดโค้วต้า ก่อนเรียนจบ ม. 6 ยังไม่จางหาย ผมไม่รู้ว่าทำไมผมเลือกเรียน “การสื่อสารมวลชน” แต่สาเหตุหลักๆ เท่าที่ผมจำได้ อาจจะเป็นเพราะผมเห็นว่า มันเปิดเป็นปีแรก ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก็เลยเลือกจิ้มเอา สรุปว่า ติดโควต้า มาอันดับสองจาก 21 คน คัดมาแล้วจากเก้าร้อยกว่าคน (มั่วไปได้ไงวะเนี่ย)

ช่วงเวลากระหน่ำฟังเพลงก็เข้ามาถึง เพราะผมไม่ได้เล่นดนตรีอย่างที่เคยอีกแล้ว ใครที่รู้ว่าสื่อสารมวลชนหรือนิเทศศาสตร์ เขาเรียนกันยังไง คงจะรู้ว่าพวกที่ทั้งเรียนทั้งทำกิจกรรมระหว่างเรียนคงไม่ค่อยมีเวลาโงหัวไป ทำอย่างอื่น

แค่ เขียนข่าวให้ได้ เขียนสารคดีให้ผ่าน แบกกล้องถ่ายงาน ตัดต่อทำรายการโทรทัศน์มันก็หนักหนาสาหัส ไหนยังจะมีวิชาเฟอฟอร์มเม้นอาร์ท พระเจ้า เราต้องเล่นละครเวที

จริงๆ แล้วผมไม่ใช่พวกนักกิจกรรมมหาลัยเลย ผมจะทำแค่ที่อยู่ในสาขาวิชาที่เรียน หลักๆ คือเล่นละคร ชอบแสดงเป็นต้นไม้ ก้อนหิน และไอ้หื่น (ไอ้หื่นคือตัวแสดงที่ผมเล่นล่าสุดให้วิชาภาพยนตร์ หนังโปรเจ็คจบ)
พอว่างจากกิจจกรรมเหล่านี้ ผมก็หันหน้าเข้าหาหนังสือ ฟังเพลง

ผมอยากฟังเพลง The House Of The Rising Sun ของ The Animals แต่ตอนที่ไปหาซื้อเทป ผมเห็นปกเทปมันเขียน Animals มีรูปหมูบินอยู่ตรงปกเทปก็เลยหยิบมา กลับมาถึงบ้าน เปิดฟัง เออหวะ เพลงมันแปลกๆ ดี อ่านดูปกเทป อ้าว นี่มัน Pink Floyd ชุด Animals นี่หว่า ไม่ใช่วง The Animals อย่างที่ต้องการ

หลังจากนั้นมา ผมก็ลืม The Animals ไปชั่วขณะ ตามหา Pink Floyd เพราะว่า มันนามสกุลคล้ายๆ กับซิกมุนด์ ฟรอยด์ นักจิตวิทยาที่ผมกำลังอ่านหนังสือเขาอยู่พอดี มันเข้าใส้สายโปรเกรสสีพร๊อคไปแล้ว ตามหา Rush ซะนิดนึงนะ ผมสงสัยทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่ฟัง Dream Theater แต่ไม่รู้จัก Rush แต่ผมฟัง Rush มาก่อนหลายปี เพิ่งรู้จัก Dream Theater อะไรวะ งงตัวเอง…

เอ้อ ทำไมมันยาวอย่างนี้วะ เอาไว้ต่อตอนหน้านะครับ

มีความสุขบ้าง ตามอดีตดีดี ที่คอยกลับมาสร้างความชุ่มฉ่ำใจครับ

ปล. ผมจึงกลับไปขุดภาพเก่าๆ ที่เคยถ่ายเอาไว้กลับมาฉายใหม่อีกรอบ