การไถนาแห่งยุคสมัย
โดย พร อันทะ เมื่อ
สิ่งที่ผมเสียดายที่สุดในชีวิตสิ่งหนึ่งนั่นก็คือ “ผมไถนาโดยใช้ควายไม่เป็น” ทั้งๆ ที่ผมเป็นลูกชาวนาแท้ๆ แม้จะเป็นเพียงแค่การทำนาเพื่อกินในครอบครัว ไม่ถึงกับต้องเอาไปขาย แต่ก็ยังถือเป็นชาวนา ก็ยังดีที่ผมยังดำนา เกี่ยวข้าว ตกกล้าเป็น ผมไม่โทษพ่อของผม ที่ไม่ยอมสอนผมไถนา ท่านอาจจะอยากสอน แต่ว่าตอนนั้นผมอาจจะขี้เกียจไม่อยากเรียนรู้เองก็ได้ แต่คิดว่าคงไม่ใช่ สาเหตุน่าจะมาจากความขี้โรคของผมมากกว่า เพราะอีสานบ้านผมถ้าจะสอนลูกๆ จับไถก็ให้จับกันตั้งแต่ เก้าขวบ สิบขวบ และในช่วงนั้นผมยังเข้าโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น
เกือบยี่สิบปีผ่านไป ที่บ้านผมยังทำนา แต่ไม่เหมือนเดิม เพราะพ่อผมจากไปนานแล้ว เหลือที่นาไม่กี่ไร่ให้ลูกๆ จัดแบ่งกันทำกินต่อ ส่วนตัวผมต้องไปหาเอาเองข้างหน้าไม่มีมรดกหรือผืนดินให้ เพราะถือว่าเป็นลูกผู้ชายที่ได้รับการส่งเสียให้เรียนจบปริญญาตรีโดยงบ กยศ. ของรัฐบาลมาแล้ว
แต่ ทุกครั้งที่ผมเห็นควาย ผมยังรู้สึกเสียดาย เสียดายที่ผมไถนาไม่เป็น และควายมักจะสะท้อนกระจกให้ผมเห็นเสมอในเวลาที่ผมจ้องมอง
เสียใจ
ในวันนี้ วันที่ได้รู้ข่าวว่า 99.5% ควายไทยไถนาไม่เป็น จากควาย 1.57 ล้านตัวทั้วประเทศ ไถนาได้ประมาณ หกพันตัวและกำลังทำหน้าที่อยู่ประมาณแค่สี่พันตัว จนกรมปศุสัตว์ต้องเปิดโครงการสอนการไถนาให้กับควายและรณรงค์ให้ชาวนาหันมา ใช้ควายไถนาเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายจากการใช้น้ำมันกับควายเหล็ก
มุมหนึ่ง
การที่เราต้องใช้ควายไถนา ในอีกฟากหนึ่งนั่นก็หมายถึงเราต้องเลี้ยงดูปูเสื่อให้กับควายด้วย ผมเคยเป็นเด็กเลี้ยงควายมาก่อน แน่นอนมันย่อมไม่เหมือนกับทุกวันนี้ วันที่เด็กๆ ต้องแบกภาระเรียนพิเศษไม่มีเวลาว่างพอจะลงนา บ้างอาจจะเป็นแฟชั่นทำตามเพื่อนไป แต่ส่วนหนึ่งยังสงวนให้คนที่รักจะติว
แต่สำหรับแฟชั่นเลี้ยงควายแล้ว คงไม่มีใครอยากเดินตามกัน กำลังพลที่ต้องคอยดูแลควาย เช้า เย็น หายไปอาจจะเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ควายไทยหมดแรงไถนาก็เป็นได้
สมัย
ยุคนี้มันยุคไหนกันแล้ว ว่าไหมครับ มันยุคการเมืองผลัดใบ (ผมก็เห็นมันผลัดใบมาตั้งแต่เด็ก แต่ทำไมต้นมันไม่โตสักทีวะ) ยุคเศรษฐกิจวุ่นวาย ยุคเด็กติดไฮไฟว์ ยุคนักศึกษาจบใหม่ไม่รู้จะทำงานอะไร ยุคที่ต้องถามว่าจ้างเดือนเท่าไหร่แต่ไม่มองความสามารถตนเอง ยุคพ่อแม่ถือสาก ลูกหลานถือเม้าส์
การศึกษา
ความห่างระหว่างพื้นฐานเทคโนโลยีของผู้สอนคือครู กับผู้เรียนคือนักเรียนช่างห่างกัน ความเร็วของเทคโนโลยีที่เข้ามาเร็วจนผู้ปกครองตั้งตัวไม่ทัน ในวันนี้ วันที่เด็กครึ่งค่อนประเทศเล่นโซเชียลเน็ตเวิร์ค แต่เกินครึ่งคือผู้ปกครอง แทบไม่เคยรู้ว่าโลกนี้เครื่องที่เขาเรียกว่าคอมพิวเตอร์มันหน้าตาเป็นเยี่ยง ไร ลูกๆ บอกต้องเรียนคอมพิวเตอร์ พ่อแม่ได้แต่เกาหัวว่ามันคืออะไร แต่ยังไงก็ต้องเรียน ฟันธง “โอเคแม่ใหญ่สอน” ให้ลูกเรียน
ในเมื่อสิ่งที่ลูกๆ รู้และพ่อแม่ตามไม่ทัน อธิบายหรือให้ความรู้เองไม่ได้ ความผิดพลาด รู้ไม่เท่าทันหลายอย่างจึงเกิดขึ้น
แบบเรียน
ผมอยู่ในยุคสมัย “มานี มานะ” เป็นยุคกลางของพวกเขาเหล่านั้น อยู่ในยุคที่ครูมัธยมจะสอนที ต้องหากระดาษมาปิดปกหนังสือที่ตัวเองถืออยู่มาสอน เพราะกลัวนักเรียนเห็นแล้วไปซื้อมาอ่าน กลัวนักเรียนทำข้อสอบที่ตัวเองจะออกในหนังสือนั่นได้ ผมยังสงสัยว่า มันเรียนพิเศษกันทำไมวะ เรียนมาแล้วก็ไม่เห็นพิเศษตรงไหน มันก็เล็กน้ำ ใส่ทุกอย่างเหมือนกันนี่แหละ (ที่จริงเพราะไม่มีเงินไปเรียนและไม่รู้ว่าจะเรียนพิเศษวิชาอะไรต่างหาก เรียกง่ายๆ ว่า โง่ทั้งขึ้นทั้งล่องนั่นเอง) แบบเรียนผมจึงไม่มีคีย์คณิตศาสตร์ หรือเฉลยใดๆ และที่สำคัญหนังสือยังเป็นหลักสูตร ปี 2521 ฉบับปรับปรุง 2524 หรือ 2530 แต่ในวันนี้ เรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน สารเคมีเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย เพิ่มใหม่มาเรื่อย ไม่รู้ว่าเด็กๆ เขายังท่องตารางธาตุอันเดิมอยู่หรือเปล่า คงไม่
ตอนนี้
นาที่มีให้ไถกัน มันก็ผืนน้อยลงไปทุกที ทุกที แต่ในขณะที่นาผืนน้อยเพิ่มมากขึ้นกลับไม่มีใครโหยหาที่นาผืนใหญ่ แต่เป็นการมุ่งไถนาผืนน้อยในยุคดิจิตอลไปในสังคมสังคัง
ผมรู้สึกเหมือนเดิม คือผมไถนาไม่เป็น